ชมงานศิลปินทั่วโลกที่หอศิลป์แห่งชาติสก๊อตแลนด์ (National Gallery of Scotland) เอดินบะระ

 

เดินจากที่พักไม่นานก็มาถึงหอศิลป์แห่งสก๊อตแลนด์ แม้ว่าที่นี่จะไม่ใหญ่โตเท่ากับหอศิลป์แห่งชาติที่ลอนดอนแต่ก็น่าสนใจเพราะมีงานของศิลปินชื่อดังของยุโรปอยู่หลายคน อีกทั้งมีงานศิลปินสก๊อตแลนด์คนดังอยู่หลายชิ้นด้วย และสิ่งที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งคืออาคารของหอศิลป์สไตล์นีโอคลาสิกมีหน้าจั่วและเสาไอโอนิคสวยงาม กลมกลืนไปกับบริเวณโดยรอบและส่วนอื่นๆของเมือง

 


ก่อนอื่นขอบอกว่าชิ้นงานที่สะสมอยู่นั้นส่วนใหญ่เป็นศิลปินยุโรปประเทศต่างๆที่มีชื่อเสียง ส่วนศิลปินสก๊อตแลนด์นั้นจะมีจัดแสดงในส่วนเฉพาะ ซึ่งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ห้องแรกคือศิลปะยุคโกธิค มีภาพเขียนบนแผ่นไม้ที่ใช้สำหรับบูชาฉาบเคลือบสีทองสวยงาม เป็นเรื่องราวของพระเยซูและนักบุญต่างๆในสไตล์เดียวกับที่เราได้เห็นในลอนดอนมาแล้ว


ส่วนยุคสมัยเรเนซองส์ท่านจะได้พบกับภาพเขียนของอัครมหาศิลปินของโลกหลายท่าน ตัวอย่างเช่น ภาพของราฟาเอล เป็นรูปพระแม่มาเรียกับกุมารพระเยซูและนักบุญจอห์น และอีกภาพเป็นครอบครัวพระเยซู พระแม่มาเรีย โยเซฟ และกุมารน้อยเยซูอยู่กันครบเซ็ต


ภาพวาดสมัยเรเนซองส์ที่ผมชอบอีกภาพหนึ่ง เป็นของศิลปินเยอรมันชื่อลูคัส ครานาช (Lucas Cranach) เป็นภาพเปลือยผู้หญิงหุ่นสะโอดสะองจูงมือเด็กน้อยมีปีกถือคันศรคนหนึ่ง ผู้หญิงนั้นคือวีนัส เทพีแห่งความงามซึ่งเป็นมารดาของกามเทพนั่นเอง จุดเด่นคือนางแบบที่มีความงามแบบผิดปกติ รูปร่างผอมแบน หน้าอกเล็ก ผิดความนิยมในยุคนั้น นางวีนัสผมยาวแผ่ออกเป็นแท่งปลายแหลมบนฉากหลังสีพื้นดำ สวมใส่แค่สร้อยคอใหญ่เท่าโซ่ ดูแล้วเหมือนภาพสมัยใหม่ไปเลย ภาพนู้ดของลูคัสนี้มีหลายภาพมากแพร่กระจายอยู่ในหลายประเทศ และมีศิลปินสมัยใหม่นำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพผู้หญิงต่อไปอีกด้วย


งานอีกชิ้น (จริงๆสองชิ้น) ที่โดดเด่นก็คือประติมากรรมนักบวช 2 คนที่ดูน่ากลัวเกินกว่าจะเป็นนักบวช เป็นร่างที่ห่มคลุมด้วยชุดผ้าคลุมหนาหนักไปทั้งตัวแต่ไร้ใบหน้า ไม่แปลกที่เป็นเช่นนั้นเพราะสองรูปนี้เคยถูกประดับอยู่ในสุสานมาก่อน แถมในสถานที่ดังเดิมยังมีรูปแบบนี้อีกหลายชิ้นด้วย


นอกจากนี้ยังมีศิลปินดังอื่นๆ เช่น เรมบรานท์ เป็นภาพวาดพอร์ตเทรตใบหน้าตนเอง ซึ่งจะเห็นเกลื่อนตามแกลรี่ต่างๆทั่วโลกซึ่งต่างก็เป็นของแท้ทั้งสิ้น เพราะแกวาดไว้เยอะมากในช่วงวัยต่างๆตั้งแต่หนุ่มไปจนแก่


งานของปีเตอร์ พอล รูเบน ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องภาพวาดเทพเจ้ากรีกและโรมัน โดยเฉพาะภาพเรื่องราวตอนที่พระพุธ (Mercury) อุ้มนางไซคีมายังสวรรค์ ซึ่งเป็นตอนจบหลังจากที่นางไซคีคู่รักของกามเทพถูกวีนัสซึ่งเป็นแม่ผัวใจร้าย (เพราะอิจฉาในความงามของนางไซคี) กลั่นแกล้งให้ไปผจญภัยแทบตาย ก่อนที่จะได้พบกับกามเทพอีกครั้ง หลังจากนั้นเทพซีอุสก็บัญชาให้พระพุธพานางเหาะลงมายังสวรรค์เพื่อครองรักกับคิวปิดต่อไป อันที่จริงเรื่องนี้มีความยืดยาวมากกว่านี้มาก แต่ตอนนี้ขอเชิญชวนให้ดูภาพงามกันก่อน หญิงชายเปลือยตรงกลางภาพคือพระพุธหรือเทพเมอร์คิวรี ใส่หมวดมีปีกและคฑารูปนกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว กำลังอุ้มนางไซคีแสนสวย รอบข้างนั้นมีตัวละครหลายตน อย่างเช่นกามเทพ และแม่ผัววีนัสซึ่งกำลังประทับบนรถทรง(355) (แต่ทำไมดูเหมือนสเกตบอร์ดมากกว่า) และเทพเจ้าอื่นๆอีกสารพัด เป็นตอนจบที่มีความสุขก่อนจะตามมาด้วยการฉลองงานแต่งงานต่อไป



หลังจากนั้นก็เข้าสู่งานสมัยใหม่ โดยเฉพาะยุคของอิมเพรสชันนิสม์ อย่างเช่น ภาพของโกแกง รูปการต่อสู้ระหว่างยาโคปหรือจาคอบ (Jacob) กับทูตสวรรค์ ซึ่งแสดงการเป็นตัวแทนของฝ่ายมนุษย์กับฝ่ายจิตวิญญาณ

แต่ส่วนที่โดดเด่นเห็นชัดกลับเป็นฝูงแม่ชีที่กำลังเฝ้าดูการต่อสู้นี้อยู่ รูปนี้มีความสำคัญคือมันบ่งชี้ถึงการหลุดออกจากกรอบของศิลปะยุโรปแบบเดิมไปแล้วเพราะภาพไม่ได้มีความสมจริงอีกต่อไป พื้นหลังสีแดงก็ไม่เหมือนจริง และไม่ได้ใช้ทัศนวิสัย (perspective) แสดงมิติของภาพตามที่สายตามนุษย์เห็นจริงอีกต่อไป แต่สามารถแสดงความตื้นลึกได้จากระนาบของรูปต่างๆ โดยผู้วาดได้แรงบันดาลใจมากจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่น



ส่วนต่อไปจะเป็นงานของศิลปินสก๊อตแลนด์ต่างๆ เซอร์ ดสวิด ยังก์ คาเมรอน (Sir David Young Cameron) งานจิตรกรรมของเขาเป็นภาพหยาบ ๆที่เน้นแสงเงาในช่วงเวลาต่างๆ บางภาพก็เป็นช่วงแดดแรงซึ่งมีเงามืดตัดแสงสว่างฉุบฉับ บางภาพเป็นสถาปัตยกรรมที่ทาบทับเป็นระนาบของผนังและเงา  

ส่วนที่สร้างความประทับใจกับผมมากคืองานภาพพิมพ์โลหะเป็นลายเส้นต่างๆ รูปสิ่งของและงานทางสถาปัตยกรรม อย่างเช่นประติมากรรมกากอยบนหลังคา ภาพสถาปัตยกรรมในที่ต่างๆ รูปทรงงาม แสงเงาสวย ลายเส้นเลิศ ชมได้ไม่มีเบื่อ



คนต่อมาคือ Phoebe Anna Traquair (บางคนก็เรียกเธอว่าฟีบี้) งานของฟีบี้เป็นศิลปะที่มีลักษณะสวยงาม รูปแบบสไตล์ของเธอเป็นแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ซึ่งเป็นสไตล์ที่มีความอ่อนหวานเน้นสวยงามเป็นหลัก ภาพที่นำมาแสดงเป็นชุดภาพบุคคลสามภาพที่มีลักษณะแบบเทพนิยายซึ่งเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณมนุษย์สามประการ มีชื่อว่า The Progress of a Soul แสดงอารมณ์สามประการ คือความสิ้นหวัง (Despair) ความกังวล (Stress) และชัยชนะ (Victory)  ซึ่งดูแล้วขนลุกเลยเพราะแต่ละภาพเธอไม่ได้ใช้แปรงวาดแต่ใช้วิธีการปักไหมเส้นเล็กๆไปบนผ้า นับว่ามีพยายามอย่างสูงมาก


ภาพสะดุดตาอีกภาพ วาดโดย Gavin Hamilton มาจากเทพปกรณัมกรีก คือมหากาพย์อีเลียด (Eliot) ของกวีโฮเมอร์ เป็นรูปเปโตรคัส (Patroclus) พระเอกนักรบที่สิ้นใจตายจากสงคราม โดยมีเพื่อนรักของเขาคือ Achilles ได้เข้ากอดศพด้วยอาการโศกเศร้าอย่างสุดสลด 

มีเกร็ดเล่ากันว่า ความรักของชายทั้งสองในมหากาพย์นั้นแนบแน่นเกินไปกว่าเพื่อนรักธรรมดาจนบางคนแปลความว่า ทั้งสองเป็นคู่รักเกย์กันก็มี ใครอยากรู้ลองนั่งไทม์แมชีนไปถามโฮเมอร์ก็แล้วกัน

ภาพสุดท้ายที่จะขอแนะนำซึ่งเป็นภาพเขียนสุดยอดของพิพิธภัณฑ์นี้คือ Skating on Duddingston Loch เป็นรูปของ Reverend Robert Walker ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในชุดสีดำใส่หมวกแลดูเป็นทางการ แต่กำลังทำในสิ่งที่ดูตรงกันข้ามซึ่งไม่น่าจะไปด้วยกันได้ คือการเล่นสเก็ตโดยกอดอกและยืนด้วยขาข้างเดียวและขาอีกข้างยกขึ้นสูง แล่นไหลลื่นไปในทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็ง ภาพนี้เป็นงานของศิลปินสก๊อตแลนด์คือ Sir Henry Raeburn ที่โด่งดังที่สุด 

ความสะดุดตากับความประหลาดและขัดแย้งของมันที่คนดูรู้สึกได้ (364) ท่าทางการเล่นสเก็ตโดยกอดอกแล้วโลดแล่นไปราวกับเป็นโลกมหัศจรรย์ที่ไม่มีทางทำได้จริงในขณะที่นายโรเบิร์ตนั้นเฉยเมย ทำให้โลกจดจำและโด่งดัง

Comments

Popular posts from this blog

นำชมงานศิลปะ ที่หอศิลป์แห่งลอนดอน ((National Gallery of London)

หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)